โรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์
1128 ถนนลาดพร้าว  แขวงสามเสนนอก  เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10320
เบอร์โทรศัพท์ 0 2511 4049
ประวัติโรงเรียน
ประวัติโรงเรียน

ประวัติโรงเรียนโดยย่อ

   โรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2495  เปิดทำการสอนปีแรก  เมื่อวันที่ 25  พฤษภาคม 2495  ดำเนินการสอนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-4  โดยรับโอนนักเรียนจากโรงเรียนวัดลาดพร้าวส่วนหนึ่ง และรับเพิ่มเติมส่วนหนึ่ง  มีนักเรียนครั้งแรกรวม 722 คน  นายเกรียง  เอี่ยมสกุล  เป็นครูใหญ่  มีครู 18  คน นักการภารโรง 2  คน โรงเรียนอยู่ในความดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ และใช้สถานที่โรงเรียนวัดลาดพร้าวเป็นที่เรียนชั่วคราว

   จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นได้อนุมัติเงินจัดซื้อที่ดินจำนวน 20 ไร่ 3 งาน75 ตารางวา  เป็นเงินรวม 628,125  บาท (มูลค่าในขณะนั้น) แล้วเริ่มทำการก่อสร้างอาคารเรียนถาวร 2 ชั้น  1  หลัง  จำนวน  22  ห้องเรียน (อาคารพิบูลสงคราม) มีอาคารประกอบ คือ อาคารโรงอาหาร ห้องน้ำ ห้องส้วม บ้านพักครู บ้านพักภารโรง และโรงฝึกงาน  สิ้นค่าก่อสร้างเป็นเงิน 5,439,800 บาท และตั้งชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์” และได้ทำพิธีเปิดอาคารเรียน โดยย้ายนักเรียนจากโรงเรียนวัดลาดพร้าวที่ฝากเรียนมาเมื่อวันที่ 25  มิถุนายน  2497  จึงนับเอาวันนี้เป็นวันสถาปนาโรงเรียน

   พ.ศ. 2498   โอนโรงเรียนไปสังกัดจังหวัดพระนครและเข้าร่วมโครงการปรับปรุงส่งเสริม การประถมศึกษากรุงเทพ - ธนบุรี  

   พ.ศ. 2506 โอนโรงเรียนมาสังกัดกองการประถมศึกษากรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

   พ.ศ. 2520 กรมสามัญศึกษาอนุมัติเปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 4ห้องเรียน

   พ.ศ. 2521 กรมสามัญได้ยกเลิกการสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่1 และ2 โดยให้โอนนักเรียนไปเรียนโรงเรียนมัธยมศึกษา  ในเขตอำเภอบางกะปิ 

   พ.ศ. 2523   เปิดสอนนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ตามพระราชบัญญัติประถมศึกษา พุทธศักราช  2523    

   พ.ศ. 2529 เปิดสอนชั้นเด็กเล็ก

   พ.ศ. 2534 เริ่มเปิดสอนชั้นอนุบาล  หลักสูตร  2  ปี 

   พ.ศ. 2534 โรงเรียนได้เข้าร่วมโครงการปฏิรูปการศึกษาและได้ดำเนินการพัฒนาการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับนโยบาย ปฏิรูปการศึกษา  ดังนี้ ดำเนินการสอนวิชาภาษาอังกฤษให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 (โรงเรียนได้รับการจัดสรรงบปฏิรูปการศึกษาจัดให้มีห้องปฏิบัติการทางภาษา (SOUND LAP )ขนาด30 ที่นั่ง 1ห้องเรียน ซึ่งต่อมาในภายหลังผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ได้จัดซื้อและติดตั้งครุภัณฑ์เพิ่มเติมให้อีก 10 ที่นั่ง รวมเป็น 40 ที่นั่งนอกจากนี้ โรงเรียนยังได้รับงบประมาณตามข้อเสนอของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจัดให้มีห้องปฏิบัติการทางภาษา ขนาด 30 ที่นั่ง อีก 1 ห้องเรียน

   พ.ศ. 2540 เปิดสอนชั้นอนุบาล 3 ขวบ 1 ห้องเรียน  เป็นปีการศึกษาแรก  ตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ  และความต้องการของชุมชนในท้องถิ่น ได้รับความร่วมมือจากชมรมผู้ปกครองและครู จัดให้มีห้องคอมพิวเตอร์ขนาด 20 เครื่อง (40  ที่นั่ง) จำนวน 2 ห้องเรียน  และเปิดทำการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ให้แก่นักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  เป็นปีการศึกษาแรก

   พ.ศ. 2545 เข้าร่วมเป็นโรงเรียนเครือข่ายใช้หลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544  ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ

   พ.ศ. 2546 โอนโรงเรียนจากสังกัดสำนักงานการประถมศึกษากรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติ  เป็นสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 2 คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกระทรวงศึกษาธิการ

   พ.ศ. 2547 เปิดทำการสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1  จำนวน   4  ห้องเรียน

   พ.ศ. 2548 ผ่านการประเมินและรับรองคุณภาพการศึกษาภายนอกจากสำนักงานรับรองและ ประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอก (สมศ.) ได้รับมาตรฐานระดับดี ทั้งระดับปฐมวัย ประถมศึกษาและมัธยมศึกษา

   พ.ศ. 2549 เปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3  ครบทั้งสามสายชั้น  โดยได้ก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราว (อาคาร 4)  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3  จำนวน  4 ห้องเรียน ใช้งบประมาณจากเงินรายได้สถานศึกษา    เป็นเงิน  490,000  บาท  

   พ.ศ. 2550 เป็นโรงเรียนทดลองการกระจายอำนาจทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ   เป็นครั้งแรก และได้จัดสร้างอนุสาวรีย์ จอมพล ป.พิบูลสงคราม หล่อด้วยสัมฤทธิ์ครบรอบ 110 ปี อยู่ด้านหน้าศาลากลางน้ำหน้าโรงเรียน  ใช้งบประมาณจากการระดมทรัพยากรจัดสร้างท้าวจตุคามรามเทพ รุ่นทรัพย์แผ่นดิน 2550 และจากร้านค้าสวัสดิการโรงเรียน จำนวน 1,000,000 บาท ติดตั้งเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2550โดยนายนิตย์  พิบูลสงคราม อดีตรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ เป็นประธานในพิธี

   พ.ศ. 2552 เป็นโรงเรียนต้นแบบการใช้หลักสูตรสถานศึกษา ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551  

   พ.ศ. 2553 วันที่ 15  ธันวาคม 2553  โรงเรียนได้จัดทำเอกสารหลักฐานการขอขยายชั้นเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4 ส่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานครเพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติ  มีอาคารเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาคารเรือนระกา อาคารประชาสัมพันธ์และโดมอเนกประสงค์ 

   พ.ศ. 2554 ได้รับการอนุมัติให้ เปิดสอนนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4  จำนวน  2  ห้องเรียน  โดยปรับห้องทะเบียนวัดผล และห้องดนตรีไทยระดับมัธยม  เป็นห้องเรียนของ มัธยมศึกษาปีที่ 4   ได้ต่อเติมอาคารเรียนชั่วคราวเพิ่มอีก 2 ห้อง เป็นห้อง กอท.และห้องพักครูมัธยมศึกษาปีที่ 1  ได้ ปรับปรุงอาคารเรือนระกา เป็นห้องพักครูสำหรับภาษาต่างประเทศ (อังกฤษ/จีน)  ได้ปรับปรุงอาคารประชาสัมพันธ์เป็นศูนย์วิจัยพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่งนอร์มอล -โรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์  โดยมีการทำพิธีเปิดศูนย์ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2554  จากคณะผู้เชี่ยวชาญมหาวิทยาลัยปักกิ่ง นอร์มอล นำโดย Dr. Zhu  Rui  Ping

   พ.ศ. 2555 เปิดสอนนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5  จำนวน  2  ห้องเรียน

   พ.ศ. 2556 เปิดสอนนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6  จำนวน  2  ห้องเรียน